วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นิทานพื้นบ้าน เรื่องทุ่งกุลาร้องไห้

ทุ่งกุลาร้องไห้

 

นิทานพื้นบ้าน ทุ่งกุลาร้องไห้

 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แถบทุ่งกุลาร้องไห้เคยเป็นทะเลสาบมาก่อนในสมัยนั้น มีเมืองสำคัญเมืองหนึ่งชื่อ “จำปานาคบุรี” เจ้าเมืองจำปานาคบุรีมีพระธิดาชื่อ “นางแสนสี” และมีพระนัดดาชื่อ “นางคำแบง” พระนางทั้งสองมีรูปร่างหน้าตาสวยงามเป็นที่เลื่องลือ

มีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ “บูรพานคร” เจ้าเมืองมีพระโอรสชื่อ “ท้าวฮาดคำโปง” และพระนัดดาชื่อ “ท้าวอุทร”

วันหนึ่งเจ้าเมืองทรงส่งพระโอรสและพระนัดดาไปเรียนวิชาด้วยกันที่สำนักอาจารย์แห่งหนึ่ง

เมื่อทั้งสองจวนจะสำเร็จวิชาอาจารย์ได้บอกให้ศิษย์ไปต่อสู้กับพญานาคซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเมือง “จำปานาคบุรี” เพื่อทดลองว่าถ้าหากสามารถต่อสู้กับพญานาคทั้งฝูงได้ชัยชนะ ก็แสดงว่าเรียนสำเร็จวิชาแล้ว

เมื่อศิษย์ทั้งสองลาอาจารย์ไปยังเมืองจำปานาคบุรี ทั้งสองก็ไม่ได้ทดลองวิชาแต่อย่างใดเพราะทราบข่าวว่า เจ้าเมืองมีพระธิดาและพระนัดดา มีโฉมงามเป็นที่เลื่องลือ ทำให้อยากได้พระนางมาเป็นคู่ครองจึงพยายามหาโอกาสพบพระนางให้จงได้

ในที่สุด พระองค์ก็ทราบจากชาวบ้านว่าทั้งสองมักออกมาเล่นน้ำทะเลทุก ๆ วัน จึงทรงวางอุบายดักพบพระนาง

วันหนึ่งพระนางทั้งสองก็พายเรือลงไปเล่นน้ำทะเล ท้าวทั้งสองเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงเสกผ้าเช็ดหน้าให้เป็นหงส์ทอง

แล้วหงส์ทองก็ลอยตามเรือของพระนางทั้งสองไป ท้าวทั้งสองก็แล่นเรือสำเภาไปสกัดไว้ได้ และอ้อนวอนให้พระนางทั้งสองมาลงเรือของตน พระนางทั้งสองทนการอ้อนวอนไม่ได้ จึงยอมทิ้งเรือแล้วพา “จำแอ่น” ผู้ดูแลเรือมาลงเรือสำเภาของท้าวทั้งสอง

เมื่อข่าวนี้ทราบถึงเจ้าเมืองจำปานาคบุรีเข้าก็ได้ขอความช่วยเหลือจากพญานาคที่อยู่ในถิ่นนั้น ให้มาช่วยกันดันพื้นบาดาลขึ้นมาตามที่เจ้าเมืองขอร้อง

ไม่นานนักทะเลก็แห้งขอด กลายเป็นทุ่งที่เวิ้งวาง กว้างใหญ่ สุดลูกหูลูกตา เรือของท้าวทั้งสองจึงแล่นต่อไปไม่ได้

ท้าวทั้งสองนำจำแอ่นไปซ่อนไว้ในป่าแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า “ดงจำแอ่น” ส่วนพระนางแสนสีนำไปซ่อนไว้ในดง “แสนดี” หรือบ้าน “แสนสี” ในปัจจุบันและนำพระนางคำแบงไปซ่อนไว้ในป่าแห่งหนึ่ง ต่อมาได้ชื่อว่าดง “ป่าหลาน” (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)

ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร ต่างก็หลงรักพระนางแสนสี ความหึงหวงเกิดขึ้น จนทำให้ท้าวทั้งสองต่อสู้กันอย่างดุเดือด

ท้าวอุทรได้รับชัยชนะส่วนท้าวฮาดคำโปงแพ้ และเสียชีวิตกลายเป็นผีเฝ้าทุ่งที่น่ากลัวมาก ชาวบ้านแถวทุ่งกุลาร้องไห้เรียกว่า”ผีโป่ง” หรือ “ผีทุ่งศรีภูมิ”

เจ้าเมืองจำปานาคบุรีทรงทราบเรื่องราวต่าง ๆ จนหมดสิ้นจึงเสด็จไปตามธิดา

และท้าวอุทรกลับมายังเมือง ทรงมอบหมายให้ท้าวอุทรไปสร้างเมือง “ท้าวสาร” (ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)

เมื่อสร้างเมืองเสร็จ ท้าวจำปานาคบุรีก็ยกธิดาให้เป็นมเหสีของท้าวอุทร

อยู่มาวันหนึ่งมีพ่อค้าชาว “กุลา” นำสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ มาขายที่สุรินทร์

เมื่อขายสินค้าหมดแล้วจึงเดินทางมาซื้อครั่งที่อำเภอท่าตูม พ่อค้าชาวกุลาได้หาบครั่งข้ามแม่น้ำมูลเดินทางผ่านทุ่งอันกว้างใหญ่

ขณะหาบครั่งเดินอยู่กลางทั่งนั้น พ่อค้ามองเห็นเมืองป่าหลาน ซึ่งอยู่ไกลลิบ ๆ แต่มองฝ่าเปลวแดดออกไปเห็นเสมือนว่าอยู่ใกล้ ๆ

จึงพากันเดินทางต่อไป โดยหาคิดไม่ว่า “ใกล้ตาแต่ไกลตีน” ประกอบกับเป็นช่วงฤดูแล้ง หาน้ำที่จะดื่มและล้างหน้าก็ไม่มี พ่อค้าเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยอ่อนระโหยโรยแรง ทั้งหิวข้าวและกระหายน้ำมาก สุดที่จะทนได้ถึงกับร้องไห้ออกมาอย่างน่าเวทนาและเทครั่งทั้ง ณ ที่นั่น (ปัจจุบันคือ บ้าน “ดงครั่ง” อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด)

หลังจากนั้นชาวกุลาก็หาบตะกร้าเปล่าเดินทางต่อไป จนพ้นทุ่งอันกว้างใหญ่ เดินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ก็พบหมู่บ้านจึงชวนกันเข้าไปในหมู่บ้าน

ชาวบ้านเห็นพวกกุลาเข้ามาต่างก็เข้าใจว่ามีสินค้ามาขายให้พวกตนจึงพากันมามุงดู เพื่อขอซื้อสินค้า

แต่พ่อค้าไม่มีสินค้าจะขายให้ พ่อค้าเหล่านั้นต่างหวนคิดถึงครั่งจำนวนมากที่ทิ้งไป ทั้งเสียดายและเสียใจยิ่งที่สุดที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้ถึงกับร้องไห้ออกมา

ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกทุ่งอันกว้างใหญ่ไดศาลนั้นว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”

นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์