พ่อแม่บางคน (๑)
ทำร้ายลูกด้วยการรักเขามากเกินไป ผลก็คือเกิดภาวะรักจนหลง ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ อันส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนมีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน เป็นตัวปัญหา แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา
พ่อแม่บางคน (๒)
ทำร้ายลูกด้วยการตามใจเขามากเกินไป ผลก็คือพ่อแม่กลายเป็นข้าช่วงใช้ของลูก ส่วนลูกกลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ที่พ่อแม่ต้องยอมให้เขาทุกอย่าง ที่หนักกว่านั้นก็คือ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมตามที่ลูกต้องการลูกบางคนก็ถึงขั้นทุบตีทำร้ายพ่อแม่
พ่อแม่บางคน (๓)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ทำเลว ทำบาป ผลก็คือ ลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น มองไม่เห็นเส้นแบ่งทางจริยธรรมว่า ดีเป็นอย่างไร ชั่วเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว
พ่อแม่บางคน (๔)
ทำร้ายลูกด้วยการให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว ผลก็คือ ลูกไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่เห็นคุณค่าของผู้ที่หา/และให้เงิน ยิ่งได้เงินมาก ยิ่งผลาญเงินเก่ง มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ และทั้งๆที่ใช้จ่ายเงินสูง แต่กลับมีคุณภาพชีวิตต่ำ
พ่อแม่บางคน (๕)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง เกรงว่าหากให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองแล้วเขาจะลำบาก ผลก็คือเมื่อโตขึ้นลูกกลายเป็นลูกแหง่ที่พึ่งตนเองไม่ได้ ทำอะไรด้วยตนเองไม่เป็น ยิ่งเติบโตยิ่งเป็นตัวปัญหาของสถาบันครอบครัว
พ่อแม่บางคน (๖)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี มัวแต่สนใจลงทุนในการทำธุรกิจเป็นร้อยเป็นพันล้าน แต่ไม่รู้จักลงทุนในการสร้างลูกให้เป็นปัญญาชน ผลก็คือลูกเติบโตแต่ตัว แต่ทว่ามีสติปัญญาที่ต่ำต้อย ขาดทักษะการคิด การใช้เหตุผล การทำงาน การเข้าสังคม เขาไม่เพียงแต่ไม่สามารถร่วมเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเท่านั้นแต่ยังสร้าง ปัญหาให้สังคมอีกต่างหาก
พ่อแม่บางคน (๗)
ทำร้ายลูกด้วยการทำแต่งานสังคมสงเคราะห์นอกบ้าน โดยลืมไปว่าคนที่ตนต้องสงเคราะห์ก่อนดูแลก่อนต้องให้ความรักก่อนก็คือลูก ผลก็คือแม้จะกลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จนอกบ้าน สังคมสรรเสริญ แต่กลับเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลวในบ้าน และลูกกลายเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ไม่พร้อมจะแบ่งปันความรักและความอบอุ่นให้ใคร
พ่อแม่บางคน (๘)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จในการเรียน ในการทำงาน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ ยกย่องชมเชยใครไม่เป็น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ เขาจึงเป็นนักอิจฉาริษยาตัวฉกาจ ที่จ้องแต่จะหาทางทำลายคุณงามความดีของคนอื่น
พ่อแม่บางคน (๙)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสอนเขาให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ผลก็คือ เมื่อโตขึ้น เขาจึงพร้อมผละหนีพ่อแม่ไปอย่างไม่รู้สึกผิด ไม่เห็นความจำเป็นว่า การเป็นลูกที่ดีนั้น จะต้องกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ของตนอย่างไร
พ่อแม่บางคน (๑๐)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนลูกให้รู้จักการบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ผลก็คือเมื่อโตขึ้นเขาจึงกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ คิดแต่จะกอบโกย คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนมองไม่เห็นหัวคนอื่น แทนที่จะถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งให้ ยิ่งได้ยิ่งแบ่ง”กลับถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งคอร์รัปชั่น ยิ่งแบ่งปันยิ่งสูญเสียเปล่า”
พ่อแม่บางคน (๑๑)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง ผลก็คือ ลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ ต้องเดินตามคนอื่นโดยดุษฎี
พ่อแม่บางคน (๑๒)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนให้ลูกรู้จักสมบัติของผู้ดี ผลก็คือเขากลายเป็นคนหยาบกระด้างทั้งทางกาย ทางใจ ใจคอโหดหินทมิฬชาติ ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดสัมมาคาราวะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักประมาณตน ครองตน ครองงานไม่เป็น ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบประเพณี กฎหมาย จรรยาจารีตของสังคม ไม่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนดีของเพื่อนมนุษย์
พ่อแม่บางคน (๑๓)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่แนะนำให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร (เพื่อนแท้) ผลก็คือรอบกายของเขาจึงมีแต่บาปมิตร (เพื่อนเทียม) คอยประจบสอพลอ คอยหลอกล่อให้ทำความเลวทรามต่ำช้า ติดสุรา ยาเสพติด นำพาชีวิตไปในทางเสียหาย ตกอยู่ใต้วังวนของอบายมุข สนุกสนาน ไม่สนใจหาแก่นสารให้กับชีวิต
พ่อแม่บางคน (๑๔)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเป็นคนรักการอ่าน รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักการเดินทาง ปล่อยให้เขาศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองไปตามยถากรรม ผลก็คือเขากลายเป็นคนหูตาคับแคบ ขาดความรู้พื้นฐาน ขาดความรู้รอบตัว ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การคิด พูด ทำ ไม่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ขาดความแหลมคม ตามไม่ทันโลก ตกข่าว เป็นคนว่างเปล่าทางความรู้ (รอบตัว) ความคิด จิตใจ และไม่มีรสนิยมอย่างอารยชน
ว.วชิรเมธี
๒๙ มกราคม ๒๕๕๒
กาฐมัณฑุ, เนปาล